Menu
KNOWLEDGE

หลักการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

ปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้นตามสภาวะตลาดโลก การใช้ปุ๋ยในอนาคตจะต้องเป็นไปอย่างประหยัดแต่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น หนทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรได้ จะต้องเชื่อตามคำแนะนำของทางราชการหรือนักวิชาการในการใช้ปุ๋ย คำแนะนำข้างล่างเป็นคำแนะนำไปปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
 
  • ต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับพืชที่จะปลูกมีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเฉพาะความเป็นกรดเป็นด่างของดิน โดยใช้ปูนขาวหรือดินมาร์ล หากเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ควรมีการระบายน้ำที่ดี
  • ต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เช่น ปริมาณน้ำฝนถูกต้องตามฤดูกาล มีคลองหรือระบบชลประทานแอ่งเก็บน้ำ หรือระบบส่งน้ำตามท่อ เป็นต้น
  • ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใช้ปุ๋ย เพราะวัชพืชสามารถแย่งอาหารของพืชที่ปลูกได้
  • ถ้าเป็นพืชไร่ควรจะปลูกพืชหมุนเวียนเป็นการกำจัดแมลงและโรคพืชไปในตัวหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว เช่น ตอซังข้าว ตอซังข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ควรไถกลบเป็นปุ๋ยของพืชที่จะปลูกในฤดูกาลต่อไป หากตอซังมีน้อยอาจใช้วิธีปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเสีย การทำเช่นนี้จะช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีด้วย
  • ควรใส่ปุ๋ยตามที่พืชต้องการ  การวิเคราะห์ดินและวิเคราะห์ใบพืชช่วยให้ทราบว่าพืชขาดธาตุอาหารใดบ้าง วิธีนี้จะช่วยประหยัดปุ๋ยเคมีได้มาก เพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารไม่เหมือนกัน ควรขอคำแนะนำจากนักวิชาการว่าพืชชนิดนี้ ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตรอะไร และปริมาณมากน้อยแค่ไหน
  • ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกเวลา เพราะตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวพืชแต่ละชนิดมีระยะเวลาที่ต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน พืชล้มลุกอายุสั้น การให้อาหารควรให้พร้อมปลูกหรือหลังปลูก 1-2 เดือน ไม่เหมือนไม้ผลที่ระยะเวลาการให้ปุ๋ยมีหลายขั้นตอน เช่น ระยะหลังเก็บเกี่ยว ระยะเริ่มออกดอก ระยะติดผล ระยะขยายผล เป็นต้น ทุกระยะอาจให้สูตรปุ๋ยที่แตกต่างกันไป
  • ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกวิธี เช่น ข้าวนาหว่านควรหว่านปุ๋ยก่อนหว่านข้าวหนึ่งวันหรือหว่านหลังข้าวโตแล้ว 10-15 วัน เป็นต้น การใส่ปุ๋ยในมันสำปะหลังควรใส่ปุ๋ยหลังปลูกแล้ว 1-2 เดือน โดยใส่สองข้างต้นมันสำปะหลังแล้วพรวนดินกลบ และใส่ครั้งที่ 2 หลังปลูกแล้วได้ 3 เดือน ส่วนอ้อย ข้าวโพด แล้วข้าวฟ่าง ใส่รองก้นหลุมพร้อมปลูกและกลบดิน ครั้งที่ 2 ใส่โรยข้างแถวและกลบด้วยดิน ถ้าเป็นไม้่ยืนต้น ไม้ผล ปลูกครั้งแรกควรใส่รองก้นหลุมก่อน เมื่อไม้โตขึ้นควรใส่รอบ ๆ พุ่ม เป็นต้น ซึ่งวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ควรจะขอคำแนะนำจากนักวิชาการผู้รู้จะดีที่สุด
"หนทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรได้ จะต้องเชื่อตามคำแนะนำของทางราชการหรือนักวิชาการ"   
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร
BACK