Menu
KNOWLEDGE

เกษตรปลอดภัย

เกษตรปลอดภัย

โดย

นายประสาท เกศวพิทักษ์
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ณ วันนี้มีการกล่าวถึง “เกษตรปลอดภัย” กันมากมาย อาจเป็นเพราะประชากรโลกมีรายได้มากขึ้น ทำให้มีประเทศที่ประชากรมีรายได้ปานกลางมาก เลยเกิดการรักตัวกลัวตายมาก จึงมองไปที่อาหารปลอดภัย (Food Safety) และระบบการผลิตที่เรียกว่า “เกษตรปลอดภัย” แต่ที่สำคัญการจะเกิดระบบ “เกษตรปลอดภัย” ได้ทุกคนต้องมีความเข้าใจตรงกัน และยอมรับระบบการผลิตที่ให้อาหารปลอดภัยเสียก่อน

ความหมายของ “เกษตรปลอดภัย” คือระบบการเกษตรที่จะให้ผลิตผลที่ปลอดภัยจากสารพิษ หรือปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารและโลหะที่จะมีผลต่อผู้บริโภค นอกจากนั้นระบบการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรผู้ผลิตด้วย
จากความหมายที่กล่าวมานี้ทำให้เกษตรปลอดภัยมีมากมายหลายระบบ จะได้กล่าวถึงบางระบบที่เคยมีการดำเนินการ และบางระบบยังดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ 

“เกษตรธรรมชาติ” ที่เคยเฟื่องฟูในอดีต คือการเกษตรที่ใช้ปัจจัยที่มีอยู่ในธรรมชาติ เลี้ยงและดูแลผลิตผลในไร่นา โดยไม่มีสารสังเคราะห์ใด ๆ มาใช้เลย ปัจจุบันจะเหลือมากน้อยเพียงใดยากที่จะประเมินได้

“เกษตรอินทรีย์” คือระบบเกษตรทางเลือกระบบหนึ่งที่มองถึงอาหารหรือผลิตผลที่ปลอดภัย และในขบวนการผลิตจะต้องมีผลกระทบต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดที่สำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือห้ามใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ทุกชนิดในการผลิต และพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จะต้องปลอดจากการปนเปื้อนของดิน น้ำ และอากาศ

จากรายละเอียดดังกล่าวหลายคนยังอาจสับสน ในเรื่องของการห้ามใช้สารเคมี และสารสังเคราะห์ ยกเว้นสารอินทรีย์เท่านั้น เรื่องนี้คงพอเข้าใจได้ แต่ต้องปลอดจากการปนเปื้อนทางดิน น้ำ อากาศ คงต้องอธิบายเล็กน้อย คือในดินที่มีการใช้สารเคมีมานานจนในดินมีการสะสมมาก การปรับเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอินทรีย์จึงมีระยะการเปลี่ยนแปลง (Transition period) ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสารตกค้าง และชนิดพืช อาจเป็น 1 ปี หรือยาวถึง 5 ปีก็ได้ การปนเปื้อนทางน้ำ หมายถึง น้ำที่ใช้ในการผลิตพืชจะต้องปราศจากการปนเปื้อนจากสารเคมีทุกชนิด เช่นน้ำที่หลากจากนาที่มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีผ่านแปลงเกษตรอินทรีย์ ก็จะทำให้นาเกษตรอินทรีย์ไม่ผ่านการรับรอง การปนเปื้อนทางอากาศ แปลงเกษตรอินทรีย์ที่ทำอยู่ติดถนนไอเสียจากรถยนต์ที่มีโลหะหนัก ก็อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางอากาศในระบบการผลิต พื้นที่เกษตรอินทรีย์นั้นก็ไม่ผ่านการรับรอง

จากรายละเอียดดังกล่าว กล่าวได้ว่าการทำการเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก จะต้องมีการกำหนดโซน (Zoning) ที่ชัดเจนและทำเป็นกลุ่มจึงจะสำเร็จและยั่งยืน การเกษตรอินทรีย์จึงถูกจำกัดและขยายตัวได้ช้าในปี 2545 ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 55,992 ไร่ และเพิ่มขึ้นเป็น 135,634 ไร่ ในปี 2548 (ที่มามูลนิธิสายใยแผ่นดิน 2549) ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 250,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.17 เท่านั้น

การที่นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ผลิต กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ค้า จะต้องคำนึงถึงการกำหนด “เกษตรอินทรีย์” ขึ้นเป็นวาระแห่งชาตินั้นจะมีความเป็นไปได้หรือเหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติหรือไม่? ปัจจุบันกระแสการดำเนินการตามผู้นำกำลังระบาดในยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ยุทธศาสตร์จังหวัด ใครไม่มีแผนเกษตรอินทรีย์ จะมีปัญหาด้านการจัดการปนเปื้อน

จากขั้นตอนที่เป็นข้อกำหนดตามมาตรฐานการผลิต GAP เชื่อแน่ว่าหากเกษตรกรได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน นอกจากจะได้สินค้าคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษแล้ว ยังเป็นขบวนการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ด้วย

จากสถิติที่มีพื้นที่การผลิตทั้งสองกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่การเกษตร และพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ล้วนเป็นการผลิตที่สามารถสร้างรายได้แก่ประเทศได้ ดังนั้นการเกษตรในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ของพืชเศรษฐกิจ จึงน่าจะเป็นระบบการเกษตรที่รัฐถือเป็นนโยบายหลัก ที่เรียกว่า “วาระแห่งชาติ”
สิ่งจำเป็นที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้เพราะเกษตรอินทรีย์แม้จะดีแต่ข้อเท็จจริงการผลิตทั้งประเทศหรือผลิตเป็นส่วนใหญ่เพื่อนำรายได้เข้าประเทศเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ยังไม่สายที่จะปรับยุทธศาสตร์การผลิตพืชหรือการเกษตรปลอดภัย เป็นเกษตรดีที่เหมาะสม
ระบบเกษตรปลอดภัย อีกระบบหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาและส่งเสริมให้เป็นระบบมาตรฐานของชาติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ และการยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง ระบบนี้คือ “ระบบเกษตรดีที่เหมาะสม” หรือ GAP (Good Agricultural Practices , Good Animal Practices , Good Aguatic Practices) ระบบนี้สามารถผลิตได้ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง

ก่อนที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการพัฒนาระบบ GAP ให้เป็นมาตรฐานชาติ จะต้องทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้ผลิต หรือเกษตรกร ผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความเข้าใจตรงกันเสียก่อน จากข้อมูลสถิติการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2546 ดูจะเป็นข้อมูลเก่าสักหน่อย แต่ก็ดีที่สุด เพราะสถิติที่กำลังทำอยู่ในปี 2556 คงยังไม่ได้ตีพิมพ์
ข้อมูลด้านการเกษตรของสำนักงานสถิติ ได้แบ่งแนวทางการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และปัจจัยการผลิตทางธรรมชาติ เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย

กลุ่มเกษตรกรที่ทำการเกษตรโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีใช้แต่ผลิตผล หรือปัจจัยธรรมชาติ ที่มีอยู่ หรือหาได้ มีเท่าไหร่ ก็ใช้เท่านั้น ไม่มีก็ไม่ใช้ การทำการเกษตรกลุ่มนี้ไม่เน้นปริมาณ หรือผลตอบแทนจากผลิตผล ได้เท่าไรก็เท่านั้น การเกษตรกลุ่มนี้จึงเหมือนระบบเกษตรธรรมชาติที่กล่าวแล้ว ผลิตภาพการผลิตจึงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ กลุ่มนี้มีประมาณ 549,269 ครัวเรือน ลดลงจากปี 2536 ที่มีมากถึง 845,031 ครัวเรือน

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มแรกที่พิจารณาเห็นว่าผลิตผลที่ได้ดีแต่ให้ผลิตผลน้อยมีผลต่อรายได้ จึงปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือปัจจัยธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม เป็นการใช้ผสมผสาน กลุ่มนี้มีเกษตรกรปฏิบัติอยู่มากกว่ากลุ่มแรก โดยในปี 2536 มีเกษตรกรดำเนินการอยู่ 1,955,168 ครัวเรือน แต่ 10 ปีต่อมาในปี 2546 ลดลงเหลือ 1,704,929 ครัวเรือน ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ปัจจัยการผลิตธรรมชาติมีน้อยลง หรือมีการใช้เศษซากพืชเพื่อเป็นพลังงานหรืออื่นๆ มากก็เป็นได้ เกษตรกรจึงหันไปใช้สารเคมีแทน

กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์คือการเกษตรที่เน้นปริมาณผลผลิต หรือผลตอบแทนจากการผลิตเต็มที่จึงเน้นใช้ปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลเร็ว จึงเน้นการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นหลัก เช่น การผลิต ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และสับปะรด ซึ่งในปี 2536 มีเกษตรกร ผลิต 2,542,020 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 3,172,492 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 ของเกษตรกรทั้งประเทศ
 
จากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีการใช้อย่างขาดประสิทธิภาพและไม่ถูกต้อง บางรายใช้สารเคมีในระยะต้องห้าม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้พัฒนาและกำหนดแนวทางปฏิบัติระบบเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ขึ้นเพื่อเป็นระบบการผลิตที่ไม่เป็นผลร้ายต่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และได้ผลิตผลปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีสารตกค้างเกินมาตรฐานตามสากลกำหนด โดยการปฏิบัติตามระบบนี้จะมีการตรวจรับรองเช่นเดียวกับระบบเกษตรอินทรีย์ ตลอดห่วงโซ่การผลิตประกอบด้วย
  1. การเลือกพื้นที่ ที่เหมาะสมกับพืช
  2. มีการจัดการดินอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น ไถพรวนในขณะที่มีความชื้นพอเหมาะ มีการเตรียมการปลูกที่ถูกต้อง
  3. เลือกใช้พันธุ์ดี สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม
  4. มีการปลูกถูกต้อง ตรงตามฤดูกาล ระยะการปลูกหรือจำนวนต้นต่อไร่ เป็นไปตามคำแนะนำ
  5. การดูแลรักษาเป็นไปตามคำแนะนำ กำจัดวัชพืชตามความเหมาะสม ใส่ปุ๋ยถูกต้องตามอัตราและจำนวนที่เหมาะสม เวลาที่พืชต้องการ พื้นที่หรือบริเวณที่ใส่ถูกต้อง การใช้สารเคมีถูกต้องตามคำแนะนำ ไม่ใช้สารเคมีต้องห้าม ไม่ใช้สารเคมีในช่วงห้ามใช้ เช่น ก่อนเก็บเกี่ยว เป็นต้น
  6. เก็บเกี่ยว หรือจับสัตว์เมื่อแก่ หรือได้อายุตามมาตรฐานเพื่อให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ เช่น เก็บปาล์มน้ำมันเมื่อแก่ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
  7. มีสถานที่เก็บผลิตผลที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อน รวมทั้งระบบการขนส่งผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ปราศจากการปนเปื้อน
  8. จากขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนดเป็นแนวทาง เพื่อการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต และมาตรฐานผลผลิต กล่าวได้ว่าถ้ามีการส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการตามมาตรฐาน GAP แล้ว เชื่อแน่ว่าผลิตภาพการผลิตจะสูงขึ้น ซึ่งก็เท่ากับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ สามารถรองรับหรือแก้ไขปัญหาการมาถึงของ AEC ในปี 2558 ได้ทางหนึ่ง “ที่สำคัญเราได้อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน”
จากสถิติของการผลิตพืชในประเทศไทย ในกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม มีจำนวนเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรไทย และใช้อยู่กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นระบบการเกษตรที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ควรเป็นระบบ GAP (Good Agricultural Practices) ที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ และควรให้มีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้มีเจตนาที่จะโต้แย้ง หรือตำหนิ หรือไม่เห็นด้วยกับเกษตรอินทรีย์ แต่ที่ต้องเขียนเรื่องนี้เพราะหลายภาคส่วนยังมีอคติเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี “ปุ๋ยเคมี” ก็คืออาหารพืชที่สังเคราะห์เพื่อใช้สนองความต้องการของพืช แต่จากมุมมองที่จุดบกพร่องมากกว่าจุดดี ถ้าจะเปรียบเทียบปุ๋ย กับอาหารมนุษย์ ซึ่งปัจจุบัน เนื้อสัตว์ อาหารประมง และพืช ล้วนมาจากการผลิตที่ปรุงแต่ง ผิดแยกจากธรรมชาติ ทำไมยอมรับกันได้? และจากทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับปุ๋ยเคมี ทำให้การพัฒนาพืชขาดประสิทธิภาพ ถ้าจะเปรียบเทียบกับการพัฒนาสัตว์ ที่ส่งเสริมพร้อมกับพันธ์ดี คืออาหารข้น หรือหัวอาหารที่ดีเสมอ แต่การพัฒนาพันธ์พืชที่ดี แต่จะให้พืชหาอาหารกินเอง....แปลก

สุดท้ายอยากฝากผู้เกี่ยวข้องให้พิจารณาว่า เกษตรอินทรีย์ เกษตร GAP ทำไมพัฒนาช้า เกษตรกรไม่ยอมรับ สาเหตุสำคัญคือให้ผลตอบแทนกับผู้ปฏิบัติไม่คุ้มกับความยากลำบาก การพัฒนาระบบให้ยั่งยืนได้จะต้องเน้นการให้ความรู้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ยอมรับข้อดีของผลิตผลจากระบบดีๆ ยอมให้ราคาสูงคุ้มกับการลงทุน ก็จะทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์ และระบบ GAP มีความยั่งยืน.......สวัสดี
BACK